top of page

Leh Ladakh เทือกเขา หิมะ ลำธาร



เพราะอะไรที่เป็นธรรมชาติ มักสวยงามเสมอ

จุดเริ่ม

หลังจากที่ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ เกือบ 3 ปี แก๊ง power puff สามจีน เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะไปคองโก แต่ดูเหมือนว่ายังหาโอกาสเหมาะๆ ไม่ได้ จึงเปลี่ยนสถานที่ เริ่มมองหาทริปผจญภัยในประเทศใกล้ๆ จนตกลงกันได้ว่าไป เลย์ ลาดัค อินเดียเหนือ ซึ่งมีภาพจินตนาการเป็นวิวยอดภูเขา ลำธารใสและใบไม้เปลี่ยนสี เราเลือกช่วงเดือนตุลาคม (จากการอ่านรีวิวของคนอื่นมา) ซึ่งเป็นช่วงปลายร้อน ต้นหนาว ลมเย็นปะทะหน้ากำลังดี


ก่อนที่จะหาที่เที่ยว พวกเราเริ่มมีการพูดคุยถึงการแต่งตัวเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศสุดชิล และชวนเพื่อนร่วมแก๊งอีกหนึ่งคน ที่คิดว่าถึกมากพอสำหรับร่วมทริปกับพวกเรา การเดินทางครั้งนี้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายเกินไป พอให้มีโอกาสผจญภัยเล็กน้อย


เมื่อเริ่มได้วางแผนเที่ยวก็รู้สึกถึงพลังงานความสนุกกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง


เตรียมตัว

ตั๋วเครื่องบิน

ช่วงที่เราเริ่มหาข้อมูลเป็นช่วงที่ค่าตั๋วเครื่องบินแพงมาก แต่มีการติดตามราคาตั๋วเครื่องบินตลอด ทำให้ได้ราคาตั๋วเดินทางจากไทยไปถึงที่นั่นในราคาที่ถูกมาก แนะนำให้ใช้ google tracking flight ช่วยได้เยอะมาก ส่วนที่พักพวกเราเลือกใช้ทัวร์ @Rizetravel ให้ช่วยจองที่พักและไกด์ท้องถิ่ม รวมถึงคำแนะนำดีๆ มากมาย ช่วยได้เยอะทีเดียว


อาหาร

survivor food kit
ชุดอาหารประทังชีวิต

ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมเรื่อง “อาหาร” ที่ได้ยินมาเยอะมากว่ามีแนวโน้มจะไม่ถูกปากเท่าไหร่นัก จึงได้เริ่มคิดเมนูอาหารและอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนยกครัวหลวงไปทำอาหารกินที่นั่นเลย เมนูต่างๆ ที่ได้สรรหามา มีตั้งแต่ อาหารกระป๋อง อาหารซองปรุงรส มาม่า จนไปถึงหมูกรอบ แต่ก็เริ่มสงสัยกันว่า คนที่นั่นเค้านับถือศาสนาอะไร หากว่าเอาเข้าไปผิดที่ผิดทางคงจะไม่ดี สุดท้ายค้นพบว่าเค้านับถือพุทธ กินหมูได้ไม่ผิด ถึงแม้ว่าจะกินหมูได้แต่คนส่วนมากเป็นมังสวิรัติ


นอกจากเรื่องอาหาร ก็ยังมีเรื่องสุขภาพร่างกายที่ต้องเตรียมให้แข็งแรง ไปป่วยที่นั่นไม่น่าจะสนุกนัก และเตรียมอุปกรณ์เดินทางและรองเท้าดีๆ


เอกสาร

การทำเอกสารต่างๆ ไม่ค่อยมีอะไรซับซ้อนมากนัก แต่ต้องรอบคอบในการทำและปริ้นเอกสารออกมา เพราะการเข้าอินเดียต้องแสดงเอกสารมากมาย


ทำวีซ่า ไปตามนี้ได้เลย ทำวีซ่าออนไลน์ ใช้ถ่ายรูปด้วยมือถือปรับพื้นขาว ใส่ชื่อให้ถูกต้องตาม passport อย่าใส่สลับกันนะ ระหว่างทำจด id ไว้ด้วย เพราะระบบชอบรวน+เด้งเก่ง เราจะได้เข้าไปทำต่อแบบไม่หงุดหงิด หรือลองอ่านวิธีทำแบบง่าย เวลาในการทำใช้เวลาไม่นานในการทำ แต่ให้ดูเรื่องรายละเอียดดีๆ ทำง่าย แนะนำให้ทำ 20 วันล่วงหน้าก่อนเดินทาง (ราคาสำหรับ วีซ่าท่องเที่ยวอายุ 30 วัน / Double Entry (เข้า/ออกประเทศได้ 2 ครั้ง) = 25 USD) ส่วนการจ่ายเงิน สามารถใช้บัตรเดบิต (เช่น SCB Planet) ชำระได้ แนะนำให้เลือกจ่าย Axis Bank


นอกจากวีซ่าแล้วยังต้องทำเอกสารเข้าประเทศที่ชื่อว่า INDIA Air Suvidha (เหมือน Thailand Pass) วิธีทำง่ายมาก หลังจากที่กรอกเอกสารเสร็จแล้วให้เช็คอีเมล และแนะนำให้ปริ้นเอกสารออกมาทุกฉบับ พร้อมประกันต่างๆ


การแต่งตัว

จากการติดตามพยากรณ์อากาศ เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาวแต่ช่วงที่เราไปคือ 0-15 องศา คิดกันเองว่ารับมือไหวอยู่ด้วยเครื่ององค์ที่ไม่ต้องเยอะมาก


ที่พัก

เราไปแบบทัวร์ semi private มีคนช่วยประสานทั้งที่พัก ไกด์ท้องถิ่น คนขับรถ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พวกเราเลือกที่พักชื่อ Suku Villa แบบมาตรฐาน ซึ่งเป็น vegetarian valley ทางผู้ประสานงาน บอกล่วงหน้ามาว่าที่พักไม่มี heater เค้าแนะนำให้เตรียมเสื้อหนาวใส่สบายไปนอนด้วย อากาศน่าจะเย็นสบาย


อากาศดูเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาจริงๆ


เริ่มเดินทาง

วันที่ 0 เตรียมตัวเดินทาง

พวกเรานัดกันที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนเที่ยงคืน เดินทางด้วยสายการบิน Spicejet แต่ไฟล์ทดีเลย์ไปสองรอบ กว่าจะได้ขึ้นเครื่องจริง คือตีสี่ (ส่วนนี้ให้ทำใจได้เลย ว่าดีเลย์แน่นอนแต่ไม่คิดว่าจะขนาดนี้) เพื่อนๆ เริ่มกังวลว่าจะไปถึงทันเพื่อต่อเครื่องที่อินเดียรึเปล่า เรามีต่อเครื่องจากอินเดียไป เลย์ ช่วง 10 โมงเช้า พอเอาเข้าจริงไฟล์ทไปที่เลย์ ก็ดีเลย์อีกเช่นกัน (เวรมาก)


วันที่ 1 ถึงอินเดีย


เมื่อไปถึงที่อินเดีย ต้องเดินไปหยิบกระเป๋าออกไปด้านนอก อาคาร T1C หาจุด information (อยู่ตรงเสาเลข 10) แล้วแจ้งขอตั๋ว shutter bus (ยื่นตั๋วเครื่องบินเพื่อขอตั๋วฟรี) เพื่อไปขึ้นที่สนามบิน T1D ใช้เวลาประมาณ 20 นาที (หากว่าต้องจ่ายเงิน ผู้ชายเสียเงิน ผู้หญิงขึ้นฟรี)


เมื่อถึงตึก T1D แล้วไปเช็คไฟล์ทของเรา ปรากฎว่าประกาศดีเลย์ไปอีก 3 ชั่วโมง เลยพอมีเวลาได้ชิมอาหารที่นี่ กว่าจะได้ออกจากสนามบินคือบ่ายสาม



หลังจากรอจนใกล้เวลา boarding ก็ไม่มีประกาศ จนค้นพบว่า ต้องไปสอบถามเจ้าหน้าที่เอง ว่า boarding ได้รึยัง (แนะนำให้เช็คเวลาดีๆ ว่าเค้าเปิดประตูรึยัง เพราะว่าเค้าไม่ประกาศนะฮะ) หากว่าเลือกที่นั่งได้ ขอให้เลือกนั่งฝั่งซ้ายเพื่อดูวิวภูเขา เราถึงเลย์ช่วงบ่ายสี่ เมื่อถึงสนามบินเลย์แล้ว เดินออกมาเช็คดีๆ ว่ารถคันไหนมารับเรา (อย่าขึ้นรถผิดเดี๋ยวจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง) พวกเราเพิ่งรู้ว่าระหว่างเดินทางมา ทางโรงแรมที่จองไว้แต่แรกไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากท่อปะปาเป็นน้ำแข็งเลยไม่สามารถให้บริการได้ ทางผู้ประสานงานเลยขออัพเกรดให้ไปอยู่อีกโรงแรมนึง ชื่อว่า Hotel Summer Inn แทน ภาพรวมสะอาด พนักงานยิ้มแย้มและใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดี ก่อนที่เราจะแยกกับคนขับรถท้องถิ่น (มารู้ทีหลังว่าคนขับรถ กับ ไกด์ท้องถิ่นคือคนเดียวกัน) ขอให้ขอเบอร์เค้าและนัดแนะเวลาอย่างชัดเจน (ไม่งั้นคนขับจะชิลมาไม่ตรงเวลา)

**แนะนำ : วันนี้ไม่แนะนำให้ไปเที่ยวที่ไหนเพราะอาจทำให้ ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน**


คืนนี้ได้ชิมอาหารท้องถิ่น รสชาติดีอยู่ อากาศกำลังดีคือ -1 องศา เตรียมตัวเที่ยววันพรุ่งนี้


วันที่ 2 เที่ยวชมวัฒนธรรมและพื้นที่รอบๆ

ตื่นเช้ามาวันนี้ หิมะตกทั่วพื้นที่ที่พัก ดูอากาศอีกทีคือ -5 องศา ด้วยความลืมตัวทุกคนวิ่งออกมาถ่ายรูป สักพักหิมะตกลงมายิ่งทำให้ตื่นเต้นใหญ่เลย

กลับมาแต่งตัว กินข้าวเช้าพร้อมออกเดินทางตอน 8 โมงเช้า ไกด์มาตรงเวลาเป๊ะ พวกเราตรงไปตามที่เที่ยวตามจุดต่างๆ

Magnetic Hill


Confluence of Zanskar & Indus, Sham Valley




Lamayuru monastry


ภาพรวมที่ต้องยอมรับ คือ ห้องน้ำอาจจะต้องทำใจมากสุด ต่อมาคือร้านอาหารท้องถิ่น ซึ่งโดยมากแล้วเป็นมังสวิรัติ รสชาติพื้นเมือง สิ่งที่ต้องสังเกตหน้าร้านอาหารจะเขียนว่า Veg / No Veg




หลังจากที่กินข้าวเสร็จแล้ว ก็เดินทางไปวัดต่างๆ ปล.วัดทุกที่มีค่าเข้า และมีข้อกำหนดเรื่องการห้ามถ่ายรูป บางที่พระที่วัดใจดีพาเดินเที่ยวด้วย วันนี้อิ่มบุญเต็มที่มาก


Likir monastery


กลับถึงที่พัก ไม่ลืมที่จะนัดแนะเวลากับไกด์ก่อนแยกย้าย คืนนี้ เมนูครัวหลวงที่แบกไปคือ เส้นเล็กน้ำตกหมู / หมูเค็ม / หมูกระป๋อง (เพราะต้องพักเรื่องแกงแขกก่อน) นอกจากสนุกกับอาหารที่เตรียมมาแล้ว เราพูดคุยกันเรื่องเตรียมตัวจัดกระเป๋าแยกเพื่อไปพักที่ Nubra Valley รวมถึงชุดแต่งตัวเพื่อไปขี่อูฐและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ

**แนะนำให้เก็บเอากระเป๋าแยกไป ทิ้งกระเป๋าใหญ่ไว้ที่ Hotel ได้ ทางพนักงานใจดีบอกว่าเดี๋ยวดูแลให้**


วันที่ 3 เดินทางไกลสู่ Nubra Valley


วันนี้ออกเดินทางสายนิดหน่อย เพราะต้องเคลียกระเป๋า กินข้าวเช้า และ ไกด์มีการเปลี่ยนตัวเป็นคนใหม่ซึ่งไม่ได้มีปัญหาอะไร เราออกเดินทางมาได้สักพัก ไกด์ก็ถามว่าจะซื้อเสบียงอะไรมั้ย เผื่อกินกลางทาง นี่ก็ไม่ได้เอะใจว่าเส้นทางจะยาวไกลขนาดไหนเหมือนหลอกให้ตายใจก่อน การเดินทางเช้านี้อากาศเย็นมากปกติ (แอบคิดในใจลึกๆ ว่าจะมีหิมะตกอีกรึเปล่านะ แต่ไม่มี)












เส้นทางวันนี้โหดเอาเรื่อง


สองข้างทางดูได้ไม่เบื่อจริงๆ




ระหว่างทางข้ามเขตไปที่ Khardung La Top ภาพวิวรอบข้างคือสวยตะลึงแบบละลายตาไม่ได้จริงๆ ภาพธรรมชาติ ทั้งภูเขาหิมะ สายน้ำสีเทอร์คอยส์ สลับกับภูเขาแบบ rainbow mountain คุ้มที่ได้ดูด้วยตาตัวเอง

อากาศภายในรถค่อนข้างหนาว ถึงแม้ว่าจะปิดกระจกทั้งหมดก็ตาม พวกเราหยิบทุกอย่างขึ้นมาห่มเท่าที่จะหามาได้ เส้นทางขึ้นเขาค่อนข้างโหดแบบโค้งหักศอก และเลี้ยวตามไหล่เขาหลายร้อยโค้ง ใครไม่แน่ใจในตัวเองให้เตรียมชุดกันหนาวแน่นๆ พร้อมกินยาไดอะมอกเช้า-เย็น จะช่วยได้เยอะ


ชมวิวข้างทางประมาณ 2.30 ชั่วโมงถึงยอด Khardung La Top ซึ่งตรงนี้เป็นประตูสู่ Nubra Valley มีวิวเป็นยอดภูเขาหิมะขาวโพลนสุดสายตา จุดนี้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องแวะถ่ายรูประยะสั้นๆ

บรรยากาศรอบข้างให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ รวมถึงธงมนต์ที่ผูกรายล้อมตามจุดต่างๆ ให้ความรู้สึกขลังและเรียบง่ายในคราวเดียวกัน ในทิเบตเชื่อว่าการเขียนคาถาบทสวดไว้ในธงมนต์ ทุกครั้งที่สายลมพัดสะบัดปลิวคาถาในธงมนต์จะพร่ำสวดเพื่อขอพรจากสวรรค์ เมื่อสายลมพัดให้ธงสะบัดปลิว บทสวดขอพรจะนำพรไปสู่ผู้คน เปรียบเหมือนสายลมนำความสุข สุขภาพ และอำนวยพรให้แก่ผู้คน (ความหมายของธงที่ผูกตามสถานที่ต่างๆ อ่านที่นี่)

เนื่องจากว่าบริเวณนี้อากาศเบาบางและสูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,602 เมตร ทำให้อากาศเบาบางมาก หายใจลำบาก แทบขาดอากาศหายใจ ต้องเดินช้าๆ หายใจช้าๆ ใกล้ๆ จุดตรงนี้มีเต๊นท์พยาบาล เพื่อนเราคนนึง ยืนหน้าซีดอยู่ที่หน้าส้วมเพราะว่าหายใจไม่ทัน ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ พวกเราถ่ายรูปเล่นตรงนี้ประมาณ 15 นาที แล้วเดินทางต่อ (ใครหายใจไม่ทัน ควรใช้อากาศกระป๋องสูดเข้าไป)


ระหว่างทางไป Nubra เจอทั้งหิมะ ทั้งแดด รวมถึงระหว่างทางมีทำถนนให้พวกเราได้หยุดพักลงไปถ่ายรูปเล่นสนุกๆ ในระหว่างรอไม่มีอะไรทำ



ช่วงเที่ยงเราได้แวะร้านอาหารกลางทาง ตั้งชื่อให้ว่าเป็น Middle of No Where เพราะไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน


ระหว่างทางไป Nubra Valley มีจุดนึงที่ไกด์หยุดแล้วถามเราว่า ถ่ายรูปมั้ย ซึ่งเป็นเส้นทางผ่าน พอพวกเรามองออกไปคือ … สวยหยุดโลกมาก ถึงขึ้นต้องเอ่ย Amazing india ขึ้นมา ภาพตรงหน้าเหมือนเป็นภาพวาดสีน้ำ โดยใช้ปลายพู่กันวาดลงผ้าใบธรรมชาติ เส้นทางนี้คือ ถนน Leh Hunder ไป Diskit ไม่มีชื่อเรียกแต่ถ้าขับผ่านจะเห็นวิวนี้ได้อย่างชัดเจน พวกเราถ่ายรูปกันอยู่พักนึงด้วยความสนุกสนานพักใหญ่

Increditble Leh


ถ่ายรูปกับไกด์ซะหน่อย บรรยากาศมันสวยมากจริงๆ


หลังจากถ่ายรูปได้สักพัก ไกด์เรียกขึ้นรถเพื่อไปที่ Diskit gompa ที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เด่นตระหง่านท่ามกลางหุบเขาและฟ้าใส ก่อนที่จะไปขี่อูฐที่ Nubra Sand Dune


Diskit Gompa




ออกจาก Diskit Gompa มีเปลี่ยนแผนนิดหน่อย (ตอนแรกต้องไปที่พักก่อน แล้วกลับมาขี่อูฐ แต่ไกด์ขอสลับตาราง) เมื่อถึงตรง Sand Dune แล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าเล็กน้อยเพื่อความเป็นกันเองกับน้องอูฐและให้เข้ากับบรรยากาศการขี่อูฐข้ามทะเลทราย ตอนเราไปถึงที่ Nubra Sand Dune เราเดินเข้าไปในดงอูฐ ซึ่งไม่มีใครเข้ามาถามว่ามาทำอะไร ขี่อูฐมั้ย หรือว่าใดๆ ทุกคนดูชิล พวกเราต้องเดินไปถามเองว่า ค่าบริการขี่อูฐเท่าไหร่ กี่นาที นู่นนี่ (ค่าขี่อูฐ 500 รูปี/คน ระยะเวลา 30 นาที) หลังจากตกลงราคาเรียบร้อยก็เลือกอูฐได้ตามต้องการ




การขี่อูฐจะไม่ค่อยสบายนัก มีอาการต้องเกร็งกล้ามเนื้อหว่างขาและก้นหนักๆ เพราะกลัวหล่น ตัวอูฐเท่าที่สัมผัสกับตัวเองไม่ได้มีกลิ่นเหม็น และ มีขนฟูเหมือนหมาฮัสกี้






หลังจากใช้เวลาขี่อูฐและถ่ายรูปกับน้องๆ ได้ประมาณ 1.30 ชม อากาศเริ่มเย็นมากขึ้น เรารีบวิ่งไปขึ้นรถแล้วก็ตรงไปที่พัก พวกเราไปพักที่ Nubra Latsas Guesthouse ที่นี้เหมือนจะอากาศหนาวมากเป็นพิเศษและการบริการค่อนข้างแปลกๆ นิดนึง แต่ก็เป็นมิตรดี สะอาดและห้องพักใหญ่มาก



คืนนี้เมนูอาหารที่เราทำเอง มีทั้งกระเพาะปลา ผัดเผ็ดแกงใต้ หมูเค็ม พนักงานถึงขั้นยืนดูว่าทำไมเราไม่กินอาหารที่เค้าทำ (ดูหน้าตาอาหารแล้วขอผ่านดีกว่าฮะ)



รอดไปได้อีกมื้อ คืนนี้ไกด์นัดแนะพวกเราว่าจะขอเปลี่ยนเส้นทางจะพาไปที่ Pangong Lake ( ทะเลสาปน้ำเค็มที่ 13 ปกครองโดยประเทศอินเดียและ 2/3 ปกครองโดยประเทศจีน) ด้วยเส้นทางพิเศษจะได้ไม่ต้องกลับไปกลับมา ซึ่งจะทำให้เราต้องนั่งไกลมาก พรุ่งนี้จึงต้องออกจากที่พักตั้งแต่ 6 โมงเช้า


วันที่ 4 ไป Pangong Lake แล้วกลับเลย์

ตื่นเช้ามืดมาแบบอึนๆ เจออากาศ -7 องศา สะพรึงกับความเปลี่ยนแปลงของอากาศกันเลยทีเดียว


ที่พักหลักพัน วิวหลักล้าน


พวกเราแต่ละคนมีความ งงๆ เนื่องจากยังไม่ได้กินข้าวและยังไม่มีกาแฟครบโดส ก่อนออกจากที่พัก พ่อครัวทำไข่เจียวห่อขนมปังมาให้เราคนละก้อน น่ารักมากๆ (ไม่ได้ถ่ายรูปใดๆ เพราะว่ายังอึนอยู่)


ไกด์ขับพาเรามาทางลัด (ไม่แน่ใจว่าลัดรึเปล่า) สองข้างทางมีหลายบรรยากาศ หลายวิว ทั้งเหมือนวิ่งอยู่บนดาวอังคาร อยู่ในป่า ฝ่าน้ำตก ลุยโขดหิน ข้ามข้างเหว ผ่านเขาหลากสี ต้นไม้เปลี่ยนสี ลำธารเทอร์คอยส์ บ้านคนที่เหมือนผ่านสงครามมา






เส้นทางนี้ เดาว่าไกด์คงจะเชี่ยวชาญอยู่คนเดียว เพราะว่าตลอดทางที่ขับมาไม่มีรถตามมาเลย แม้แต่คันเดียว


จนมาถึงช่วงเที่ยง เราได้แวะร้านอาหาร Middle of No Where2 อยู่ส่วนไหนของโลกก็ไม่รู้ ไม่แน่ใจว่าเค้าตั้งร้านอาหารตรงนี้เพื่อขายใคร แต่ที่แน่ๆ พวกเรามานั่ง งงๆ สั่งอาหารรีบกิน รีบเดินทางต่อ




ขับรถต่อไปอีก 2 ชั่วโมง ก็ถึง Pangong Lake ซึ่งเป็นทะเลสาปน้ำเค็ม มีพื้นที่ความยาว 130 กิโลเมตร ซึ่งปกครองโดยประเทศอินเดียและ 2/3 ปกครองโดยประเทศจีน (อ่านเพิ่มเติม) ภาพทะเลสาปตัดกับท้องฟ้าและภูเขา รู้สึกคุ้มที่นั่งรถมาหลายชั่วโมง พวกเราทั้งสูดอากาศ ทั้งถ่ายรูปกันร่วมชั่วโมง ดูไม่เบื่อเลยทีเดียว





เสร็จแล้วขึ้นรถนั่งรถกลับเลย์ ซึ่งต้องผ่าน Changla Pass ที่สูง 5,360 เมตร จากระดับน้ำทะเล (อากาสเบาบางอีกแล้ว หิมะก็แน่นมากด้วย) Changla Pass เป็นประตูสู่ที่ราบสูงช้างธานซึ่งตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ชนเผ่าเร่ร่อนของภูมิภาคนี้เรียกว่า Changpa หรือ Chang-pa สถานีวิจัยที่สูงที่สุดในโลกซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยองค์การวิจัยและพัฒนาการป้องกันประเทศ (อ่านเพิ่ม)


จุดนี้ทุกคนยังสู้ต่อ แม้สภาพร่างกายเริ่มอิดโรย แต่เมื่ออยู่หน้ากล้องพวกเราก็พร้อมสร้างความสดใสให้กับประชาชนแถวนั้น







ออกจาก Changla Pass แล้วนั่งรถมุ่งหน้ากลับตัวเมืองเลย์ ดีใจที่ได้เห็นสภาพแวดล้อมอบอุ่นแบบนี้อีกครั้ง


กลับมาที่พัก Hotel Summer Inn ภายในระยะเวลา 2 ช.ม. พนักงานออกมาต้อนรับ ยิ้มแย้มสุดชีวิต ดูดีใจที่เรากลับมา ก่อนแยกย้ายไป เรานัดแนะกับไกด์ว่าวันรุ่งขึ้นขอเบาๆ นัดกัน 9 โมงเช้าไปเก็บสถานที่เที่ยวในเมืองและเมืองโดยรอบแบบไม่โหดกับเรานัก พวกเราแยกย้ายไปจัดการตัวเองก่อนลงมาทำอาหารกิน มื้อนี้เบาๆ เราทำข้าวต้มไข่เค็ม เกี่ยมฉ่ายกระป๋อง กุนเชียงและไข่ต้ม ก่อนแยกย้ายไปนอนพักกาย








วันที่ 5 เที่ยววัดวาอาราม รับพลังบุญ

หลังจากที่เดินทางมาอย่างหนักหน่วง วันนี้เราออกจากที่พักสายหน่อย ไม่เร่งรีบเหมือนช่วงวันต้นๆ


วันนี้ไปตามสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ จะเป็นวัดและดูวัฒนธรรมแนวทิเบต เดินทางช้าๆ ชิลๆ ไปตามจุดต่างๆ


Leh Palace


เห็นบันไดนึกว่าขึ้นไปได้ โดนพระตะโกนไล่ลงมาแทบไม่ทัน


กว่าจะขึ้นมาได้ จิเป็นลม

ถามว่าถ่ายได้รึเปล่าน้า ?


พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้านใน


Shanti Stupa




แล้วตอนเย็นไกด์พามาที่ถนนคนเดิน ได้พอจับจ่ายซื้อของเรื่อยเปื่อย




คืนนี้เป็นคืนสุดท้าย พนักงานดูตั้งใจทำอาหารเลี้ยงส่งท้ายโดยทำ momo (เกี๊ยวซ่าผัก)



สุดฝีมือ เราเลยสั่งลาด้วยมาม่าต้มยำและชุดอาหารครัวหลวง เราแลกเปลี่ยนอาหารให้น้องพนักงานทาน (บอกเค้าว่าไม่มีเนื้อสัตว์ เค้าน่าจะชอบ) ซึ่งเค้าวิ่งเข้าไปชิมในครัว แล้ววิ่งฉีกยิ้มออกมาบอกว่า อาหารไทยอร่อยมากกกกๆ

คราวนี้วิ่งเข้าไปทำ “ซุปแพะ” มาให้เราชิม พวกเราก้อไม่กล้าปฎิเสธ จะบอกว่ารสชาติซุปแพะคือ กลิ่นแรงและคาวมาก เหอะๆ (แอบคายทิ้งแบบไม่เห็น) เสียดายไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ มัวแต่สนุกกับการปรุงครัวหลวงในค่ำคืนสุดท้าย









วันที่ 6 บินตรงสู่อินเดีย ก่อนกลับไทย

เพิ่งค้นพบว่า โรงแรมที่นี่มีสามชั้น และชั้นสามเค้าเอาไว้ตากผ้า (เชื่อว่ากฎหมายเค้าคงบังคับให้โรงแรมหรือเกสเฮ้าท์ ปลูกได้ไม่เกินสองชั้น) วิวจากชั้นบนคือเห็นวิวภูเขาชัดมาก ก่อนออกจากที่พักพวกเรามาถ่ายรูปเล่นชั้นบน ก่อนเตรียมตัวไปสนามบิน


ขึ้นไปชั้นสามคือ วิวสวยแบบไม่มีอะไรมาบัง

ในความเป็นจริงแล้ว ชั้นสาม คือที่ตากผ้าของโรงแรม (ฮือ)


จากที่พักไปถึงสนามบินใช้เวลา 20 นาที (เร็วมาก) เมื่อถึงสนามบินแล้วเราต้องคืนซิมการ์ดให้เค้า (ไม่รู้ทำไม?) เตรียมขึ้นเครื่องบินตรงไปเดลี



ถึงเดลีแล้วก็เปลี่ยนชุดจัดกระเป๋าให้เข้ากับอากาศร้อนกำลังดี พวกเราได้ติดต่อกับทัวร์ท้องถิ่นเพื่อให้พาเที่ยวเดลีหนึ่งวัน รอบๆเมืองตามจุดสำคัญต่างๆ ก่อนที่จะละลายทรัพย์ที่ร้าน Himarayan Shop ที่ไกลออกไป (ส่วนนี้เป็นการตกลงกับคนขับ ขอให้เป็นความสามารถส่วนบุคคลที่จะไม่โดนแขกโกงนะฮะ)




น้ำมะนาวอูมามิ


ส่วนของเดลีอยากให้ได้มาเจอประสบการณ์เอง ไม่มีอะไรตื่นเต้นเท่าไหร่ จบวันที่เดลี กลับไปสนามบินเตรียมตัวกลับบ้าน พร้อมพลังธรรมชาติบำบัดอย่างเต็มเปี่ยม


ช่วงขอบคุณทุกอย่าง

ขอขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทาง

  • ขอบคุณที่ทำอาหารอร่อยๆ ให้กิน แม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้ช่วยอะไรก็ตาม

  • ขอบคุณที่ช่วยกันถ่ายรูปสวยๆ แม้ว่าเราจะถ่ายคืนให้ทุกคนห่วยๆ ก็ตาม

  • ขอบคุณที่ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยตายห่าไปซะก่อน

  • ขอบคุณที่ช่วยกันแบก ช่วยกันแนะนำ

  • ขอบคุณที่สร้างเสียงหัวเราะกันแบบปอดโยกได้ตลอดทริปแม้ว่าจะเจอเส้นทางที่โหดร้ายขนาดไหน

  • ขอบคุณที่กดลาวันหยุดเพื่อมาเที่ยวด้วยกัน


บอก Tips นิดหน่อย

  • ก่อนเดินทางควร “ออกกำลังกาย” เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายเยอะๆ เพราะว่า อากาศที่นั่นเบาบางมาก หากว่าไม่สบายที่บนนั้นนอกจากไม่สนุกแล้ว ยังไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ง่าย เพราะต้องรอเครื่องบินกลับไปที่อินเดีย

  • ที่เมืองเลย์ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3000 เมตร (หรือสูงกว่ายอดดอยอินทนนท์) สิ่งที่จะช่วยได้คือ ให้เดินช้าๆ หายใจช้าๆ และกินไดอะมอกครึ่งเม็ด ก่อนเจอสภาพอากาศ 48 ชั่วโมง

  • ซิมการ์ดที่เตรียมจากไทย ไม่สามารถใช้ที่ เลย์ได้นะ ต้องไปซื้อที่นั่น และอย่าคาดหวังความเร็วใดๆ ราคา 1000 รูปี ใส่ซิมแล้วใช้ได้เลยไม่ต้อง activate ใดๆ

  • อากาศที่นี่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงสูง ช่วงที่เราไปคือปลายร้อนต้นหนาว แต่เมื่อถึงสถานที่จิงคือ หนาวติดลบและหิมะตก ดังนั้น เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม

  • ถ้าเลือกที่พักได้ จงเลือกที่มีฮีทเตอร์

  • อากาศกระป๋องและยาไดอะมอกเป็นสิ่งสำคัญ

  • ผู้คนในพื้นที่เลย์ น่ารัก นิสัยดีและจริงใจ มีการผสมของเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย ปากีสถาน แต่ที่แน่ๆ คือเป็นมังสวิรัติและไม่กินเหล้า

  • หากว่าไม่แน่ใจว่าจะกินอาหารได้รึเปล่า เตรียมมาหน่อยก็ดี

  • ศาสนาและวัฒนธรรมของเมืองนี้ ค่อนข้างมีความขลังจนไปถึงน่ากลัวจริงจัง

  • สถานที่ท่องเที่ยวหลายจุด เป็นจุดที่มีทหารอยู่ ไม่ควรแต่งตัวลายทหาร หรือ ทำเรื่องเวรๆ

  • ธรรมชาติของเมืองนี้ ยังสวยและงดงามอยู่ ถ้าใครคิดไม่ออกว่าอยากไปไหน ขอให้ลองไปเที่ยวเมืองนี้สักครั้ง มันสวยจริง ถึงขั้นต้องบอกว่า Amazing India !!

  • คนขับรถ/ไกด์บางคน ใช้ภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่อง ถ้าเลือกได้โปรดเลือกที่สื่อสารรู้เรื่อง

  • การปริ้นท์เอกสารทั้งหมดออกมาอย่างชัดเจน จะช่วยให้สื่อสารง่ายขึ้น

  • อย่าเสี่ยงโบกขึ้นรถไปเอง อาจไปโผล่ที่ไหนไม่รู้ และ อินเตอร์เน็ตก็แทบใช้ไม่ได้


บันทึก 30/10/2022

ปิ๊กมี่ หลงไปไหน

Comments


bottom of page